อากาศหนาว ประชาชนเดินทางมาแช่บ่อน้ำพุร้อนพระร่วงคลายหนาว
ไลฟ์สไตล์

อากาศหนาว ประชาชนเดินทางมาแช่บ่อน้ำพุร้อนพระร่วงคลายหนาว

ที่บ่อน้ำพุร้อนพระร่วง หมู่ที่ 3 ต.ลานดอกไม้ อ.เมือง จ.กำแพงเพชร พบว่ามีประชาชนพากันมาท่องเที่ยวแช่ฝ่าเท้าในบ่อน้ำพุร้อนคลายความหนาวกันอย่างต่อเนื่อง บางส่วนเชื่อว่า การมาแช่เท้าในบ่อน้ำพุร้อน ช่วยรักษาโรค ทำให้สุขภาพดีขึ้น และช่วงนี้จึงเป็นโอกาสเหมาะ เพราะสภาพอากาศเริ่มหนาวเย็น และในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวจึงมีนักท่องเที่ยวมาพักผ่อนมาแช่ฝ่าเท้า และพาเด็กๆมารับไออุ่นจากน้ำพุร้อนกันอย่างตลอดทุกวัน


ปัจจุบัน บ่อน้ำพุร้อนพระร่วง ให้บริการอาบน้ำแร่ – แช่ฝ่าเท้า โดยได้จัดเตรียม สิ่งอำนวยความสะดวกไว้ให้บริการแก่นักท่องเที่ยว บ่อแช่ฝ่าเท้า จำนวน 2 แห่ง มีห้องอาบน้ำแร่ส่วนตัว ห้องอาบน้ำแร่รวม แยกชาย – หญิง บรรยากาศบ่อน้ำพุร้อนพระร่วง ร่มรื่นเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ นักท่องเที่ยว สามารถขออนุญาตกางเต็นท์พักแรม บริเวณสนามหญ้าได้ และที่สำคัญมีบริการบ้านพักด้วย

จากการสอบถามนักท่องเที่ยว เปิดเผยว่า ตั้งใจเดินทางมาเที่ยวที่บ่อน้ำพุร้อนพระร่วง เชื่อว่าการแช่ฝ่าเท้าในบ่อน้ำพุร้อน จะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดี มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง โดยเฉพาะช่วงนี้เข้าสู่ฤดูหนาว เมื่อสัมผัสน้ำร้อนในบ่อแรกจะรู้สึกร้อนนิดหน่อย แต่พอร่างกายปรับสภาพได้แล้วจะรู้สึกสบายมาก มาแล้วมีความประทับใจ


ตามตำนานกล่าวว่า บ่อน้ำพุร้อนพระร่วง แต่เดิมบริเวณบ่อน้ำพุร้อนแห่งนี้ มีลักษณะเป็นลุ่มน้ำขัง มีป่าโปร่งล้อมรอบสลับด้วยเนินเตี้ยๆ พื้นดินบางแห่งมีหินโผล่ขึ้นเป็นกลุ่มน้อยใหญ่สลับกันตำนานเล่าว่าครั้งสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สมเด็จพระร่วงเจ้าได้เสด็จประพาสป่าล่าสัตว์มาถึงบริเวณบ่อน้ำพุร้อนแห่งนี้ วันหนึ่งพระองค์ทรงเห็นไก่ป่าตัวหนึ่งมีลักษณะสวยงามและมีเสียงขันไพเราะมาก จึงทรงให้นายพรานที่ตามเสด็จ ต่อไก่ป่าตัวนั้นและได้ไก่ป่าสมพระราชประสงค์ โดยมีไก่ป่าตัวอื่นๆ ติดไปด้วยเป็นจำนวนมาก ในวันนั้นพระองค์และนายพรานล่าสัตว์อื่นไม่ได้เลย จึงทรงให้ทหารนำไก่ป่าตัวอื่นๆไปปรุงอาหารสำหรับเสวย แต่เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นป่า ไม่มีบ้านเรือนราษฎร จึงไม่มีไฟใช้ทำอาหาร พระองค์จึงทรงสาปน้ำที่อยู่ในบึงบริเวณใกล้ๆ ให้เป็นน้ำร้อน บึงดังกล่าวจึงเรียกว่า“บึงพระร่วงสาป” ต่อมาภายหลังเรียกสั้นลงว่า “บึงสาป” และเป็นที่โจษขานกันว่าน้ำในบึงสาปนี้สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บ เช่น โรคปวดเมื่อยตามร่างกาย โรคผิวหนังได้ จึงมีประชาชนในท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียงพากันไปอาบ ดื่ม กิน และบางรายนำน้ำกลับไปเพื่อเป็นสิริมงคล 

แชร์หน้านี้