รฟท. ประชุมสัมมนาออนไลน์ สรุปแนวเส้นทางการก่อสร้างทางรถไฟ สาย แม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์
ข่าวสังคม

รฟท. ประชุมสัมมนาออนไลน์ สรุปแนวเส้นทางการก่อสร้างทางรถไฟ สาย แม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดการประชุมสัมมนาเพื่อสรุปแนวเส้นทางและรูปแบบของโครงการ (สัมมนาครั้งที่ 2) งานศึกษาสำรวจ ออกแบบรายละเอียด จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อเตรียมการก่อสร้างทางรถไฟ สายแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Zoom Cloud Meetings เมื่อวันที่ 3 - 4 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ แนะนำข้อมูลของโครงการ และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีโอกาสให้ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อแนวคิด เทคนิค วิธีการ และแผนการดำเนินงาน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปพิจารณาประกอบการดำเนินงานศึกษาของโครงการได้อย่างเหมาะสม โดยมีกลุ่มที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เทสโก้ จำกัด เป็นบริษัทนำ ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท ดีไชน์ คอนเซป จำกัด และบริษัท ดอร์ช คอนซัลท์ เอเซีย จำกัด เป็นผู้ดำเนินงาน


โครงการทางรถไฟ สายแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาเส้นทางรถไฟสายใหม่เชื่อมตะวันตก-ตะวันออก (East West Coidor Upper) จากแม่สอด-นครพนม ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยได้รับงบประมาณสำหรับศึกษาสำรวจ ออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EA ในปีนี้ มีวัตถุประสงค์หลักประกอบด้วย (1) วางแนวเส้นทาง เสนอโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น รวมทั้งการออกแบบเพื่อเชื่อมโยงระบบและโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับระบบการขนส่งรูปแบบอื่นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการที่ รฟท. ได้จัดทำแล้วเสร็จ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 (2) ทบทวนผลการศึกษาผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ สังคม การเงิน และแนวทางการลงทุนที่เหมาะสม (3) สำรวจ ออกแบบรายละเอียดทางด้านวิศวกรรม และสถาปัตยกรรม ประมาณราคาค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง และจัดทำเอกสารประกดราคาเพื่อการก่อสร้าง และ (4) ศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม


ผลการศึกษาฯ ณ เดือนสิงหาคม 2564 แนวทางรถไฟ สายแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ เริ่มต้นโครงการสำรวจและออกแบบที่ กม. 3+600.00 ณ สถานีบึงเสนาท และสิ้นสุดที่สถานีด่านแม่สอด ตำแหน่ง กม. 250+100.00 มีระยะทางประมาณ 250.875 กม. มีทั้งหมด 27 สถานี แบ่งออกเป็น 2 ตอนคือ ช่วงที่ 1 นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก มีสถานีทั้งหมด 22 สถานี ย่านขนส่งสินค้า (CY) 3 แห่ง ระยะทาง 181 กม. และช่วงที่ 2 ตาก-แม่สอด มีสถานีทั้งหมด 5 สถานี ย่านขนส่งสินค้า (CY) 1 แห่ง ระยะทาง 69.875 กม. แนวเส้นทางรถไฟมีโครงสร้างอุโมงค์ 4 แห่ง ประกอบด้วย อุโมงค์แห่งที่ 1 อุโมงค์ดอยรวก มีระยะทางยาว 155 กิโลเมตร อุโมงค์แห่งที่ 2 อุโมงค์ด่านแม่ละเมา มีระยะทางยาว 1.42 กิโลเมตร อุโมงค์แห่งที่ 3 มีระยะทางยาว 0.765 กิโลเมตร และอุโมงค์แห่งที่ 4 อุโมงค์ดอยพะวอ มีระยะทางยาว 12 กิโลเมตร สภาพภูมิประเทศของโครงการส่วนใหญ่จะผ่านพื้นที่เกษตรกรรม ส่วนช่วงที่ตัดเข้าอำเภอแม่สอดจะเป็นภูเขาสลับกับหุบเขา


โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายนครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอด เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางรางที่กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยจะเพิ่มขีดความสามารถด้านการขนส่งสินค้า ผู้โดยสาร ลดระยะเวลาเดินทาง ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงในการขนส่ง ลดปัญหามลพิษ ลดอุบัติเหตุทางถนน เพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งสาธารณะทั้งพื้นที่ชนบท เมือง และระหว่างประเทศ และจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการทางรางให้มากยิ่งขึ้น


แชร์หน้านี้