รฟท. ประชุมปฐมนิเทศ เพื่อเตรียมการก่อสร้างทางรถไฟ สาย แม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์
ข่าวสังคม

รฟท. ประชุมปฐมนิเทศ เพื่อเตรียมการก่อสร้างทางรถไฟ สาย แม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์

วันที่ 18 มีนาคม 2564 ที่ห้องประชุมเยาวมาลย์ โรงแรมชากังราวริเวอร์วิว จังหวัดกำแพงเพชร นายสุวิทย์ สันตติวงศ์ไชย ปลัดจังหวัดกำแพงเพชร เป็นประธานเปิดการประชุมปฐมนิเทศโครงการ (สัมมนาครั้งที่ 1) งานศึกษาสำรวจออกแบบรายละเอียด จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อเตรียมการก่อสร้างทางรถไฟ สาย แม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมประชุม

โครงการทางรถไฟ สายแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาเส้นทางรถไฟสายใหม่เชื่อมตะวันตก-ตะวันออก จากแม่สอด-นครพนม ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยได้รับงบประมาณสำหรับศึกษาสำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมในปีนี้


มีวัตถุประสงค์เพื่อวางแนวเส้นทาง เสนอโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น รวมทั้งการออกแบบเพื่อเชื่อมโยงระบบและโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับระบบการขนส่งรูปแบบอื่นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการที่ รฟท. ได้จัดทำแล้วเสร็จ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 ทบทวนผลการศึกษาผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ สังคม การเงิน และแนวทางการลงทุนที่เหมาะสม สำรวจ ออกแบบรายละเอียดทางด้านวิศวกรรม และสถาปัตยกรรม ประมาณราคาค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง และจัดทำเอกสารประกวดราคาเพื่อการก่อสร้าง และศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ผลการศึกษาความเหมาะสมฯ (2558) แนวทางรถไฟ สายแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ เริ่มต้นโครงการสำรวจและออกแบบที่ กม. 7+415.00 ณ สถานีบึงเสนาท และสิ้นสุดที่สถานีด่านแม่สอด ตำแหน่ง กม. 256 +80.000 มีระยะทางประมาณ 256.80 กม. แบ่งออกเป็น 2 ตอนคือ ช่วงที่ 1 นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก มีสถานีทั้งหมด 24 สถานี ย่านขนส่งสินค้า 3 แห่ง ระยะทาง 188 กม. และช่วงที่ 2 ตาก-แม่สอด มีสถานีทั้งหมด 5 สถานี ย่านขนส่งสินค้า 1 แห่ง ระยะทาง 68.8 กม. มีช่วงที่เป็นโครงสร้างทางรถไฟระดับพื้น 203.70 กม. และโครงสร้างอุโมงค์ 31.2 กม. และโครงสร้างสะพาน 21.90 กม. สภาพภูมิประเทศของโครงการส่วนใหญ่จะผ่านพื้นที่เกษตรกรรม ส่วนช่วงที่ตัดเข้าอำเภอแม่สอดจะเป็นภูเขาสลับกับหุบเขา

โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายนครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอด เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางรางที่กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยจะเพิ่มขีดความสามารถด้านการขนส่งสินค้าผู้โดยสาร ลดระยะเวลาเดินทาง ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงในการขนส่ง ลดปัญหามลพิษ ลดอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งสาธารณะทั้งพื้นที่ชนบท เมือง และระหว่างประเทศ และจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการทางรางให้มากยิ่งขึ้น

แชร์หน้านี้