ร.ร.พรานกระต่ายพิทยาคม น้อมรำลึก ร.6 เนื่องในวันวชิราวุธ พระผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย
ข่าวการศึกษา

ร.ร.พรานกระต่ายพิทยาคม น้อมรำลึก ร.6 เนื่องในวันวชิราวุธ พระผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ที่โรงเรียนพรานกระต่ายพิทยาคม อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ดร.ทวินทร์ อุดมสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนพรานกระต่ายพิทยาคม มอบหมายให้ นายไพโรจน์ ยิ่งคิด รองผู้อำนวยการโรงเรียนพรานกระต่ายพิทยาคม เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลาและถวายราชสดุดี พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เนื่องในวันวชิราวุธ เพื่อน้อมรำลึกถึงวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย (ปีที่ 97) โดยมี ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ และกองลูกเสือ เข้าร่วมในพิธี


วันวชิราวุธ ตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี หรือเดิมเรียกกันว่า “วันวชิราวุธานุสรณ์” เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในลำดับที่ 6 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2423 ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 24 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เมื่อทรงพระชนมายุได้ 8 พรรษา ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเทพทวาราวดี ทรงมีพระเกียรติยศเป็นชั้นที่ 2 รองจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดตั้งกองเสือป่าขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2454 มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกอบรมข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ให้ได้รับการฝึกหัดอย่างทหาร เพื่อให้เป็นราษฎรที่เข้มแข็ง มีคุณภาพ และส่งเสริมความสามัคคี โดยเหล่าเสือป่าจะมีหน้าที่ในการรักษาความสงบทั่วไปในเมือง ขณะเดียวกันก็ได้ทรงก่อตั้งกองลูกเสือขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง เพื่อฝึกให้เยาวชนมีความเข้มแข็ง อดทน เสียสละ สามัคคี ดังที่ได้พระราชทานคติพจน์ให้แก่คณะลูกเสือว่า "เสียชีพอย่าเสียสัตย์" และดังพระราชนิพนธ์บทละครพูดเรื่อง หัวใจนักรบ และความดีมีไชย ที่แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงให้ความสำคัญกับบทบาทและหน้าที่ของลูกเสือ ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่เป็นประโยชน์อย่างมากมายมหาศาลต่อประเทศชาติ ทั้งด้านคมนาคม การปกครอง รวมทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านวรรณคดี จนถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2468 จึงเสด็จสวรรคตด้วยโรคพระโลหิตเป็นพิษ ขณะทรงมีพระชนมายุ 45 พรรษาเศษ เสด็จดำรงสิริราชสมบัติรวม 15 ปี

แชร์หน้านี้