เพียงแค่เปลี่ยนความคิด และให้กำลัง (ใจ) ตัวเองบ้าง
ข่าวการศึกษา

เพียงแค่เปลี่ยนความคิด และให้กำลัง (ใจ) ตัวเองบ้าง

รางวัลชนะเลิศองค์ความรู้ดีเด่น (เรื่องเล่าเร้าพลัง) ระดับจังหวัด
โดย นายวราวุฒิ องค์การ  นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ  สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร



เพียงแค่เปลี่ยนความคิด และให้กำลัง (ใจ) ตัวเองบ้าง

เมื่อได้ก้าวเข้าสู่วงการของการเป็นข้าราชการ กรมการพัฒนาชุมชน ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชน หรือที่หลายคนเรียกกันติดปากว่า “พัฒนากร” ย้อนไปก่อนเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จริง ทางกรมก็ใจดีมาก ได้จัดให้มีการอบรมพัฒนากรก่อนประจำการ ถือเป็นการรวมรุ่นข้าราชการบรรจุใหม่ ให้ได้มาเจอ มาศึกษาเรียนรู้งานพัฒนาชุมชนร่วมกัน นานถึง 40 วัน ตอนแรกในใจก็คิดว่าว่าต้องน่าเบื่อแน่ๆ เลย อบรมอะไรตั้งเดือนกว่า แต่พอได้มาอบรมจริงๆ ยังอยากจะขอให้กรมต่อเวลาให้ รู้สึกว่าอยากอบรมต่อมากๆๆ อย่างภาควิชาการ ตื่นเช้ามาก็แค่ออกกำลังกาย ทานข่าว เข้าห้องเรียน ฟังบรรยาย ระดมความคิด นำเสนอ ทำการบ้าน ภาคสนามก็ได้ไปพื้นที่ที่ทางพี่เลี้ยงได้คัดเลือกมาเป็นอย่างดีอยู่แล้ว พื้นที่ดี ผู้นำดี ชาวบ้านดี ดีจนคิดว่าการทำงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่ต้องสนุก ต้องมีความสุขตลอดแน่ๆ

เมื่อได้ลงมาทำงานในพื้นที่จริง อำเภอที่ได้มาทำงานก็คืออำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร เป็นอำเภอที่ไกลที่สุดจากตัวจังหวัด กว้างใหญ่รองจากอำเภอเมือง ไม่มีพัฒนาการอำเภอ มีเพียงพี่ๆ พัฒนากร 2 คน กับพื้นที่ 11 ตำบล 143 หมู่บ้าน และงานพัฒนาชุมชนที่มากมายล้นมือ นอกจากงานประจำของกรมการพัฒนาชุมชน งานตามหน้าที่ และก็ยังมีงานตามนโยบายทั้งของกระทรวง กรม จังหวัด อำเภอ อีกมากมายคับคั่ง สั่งการมาเรื่อยๆ ดั่งสายน้ำไหล และประการสำคัญคือ ทุกงานนั้นเป็นงานที่ด่วนที่สุดๆๆ ความเป็นข้าราชการเด็กหนุ่มที่พึ่งจบการศึกษา ยังไม่ค่อยมีประสบการณ์ทำงานเท่าไหร่ ถึงกับอึ้ง มึน งง ไปต่อแทบไม่ถูก ต้องพยายามเรียนรู้งาน เรียนรู้พื้นที่ และเรียนรู้คนให้ได้ไวที่สุด และให้ได้มากที่สุด ต้องทำงานแบบไม่มีพี่เลี้ยงคอยสอน เพราะพี่ๆเค้าภาระงานก็ล้นมือแล้ว อาศัยทำงานไป เรียนรู้ไป Learning by doing รถยนต์ก็ไม่มี ต้องขี่รถมอเตอร์ไซด์ไปพื้นที่ บางหมู่บ้านบางตำบล ระยะทางตั้ง 40-50 กิโลเมตร ต้องทำงานกับผู้นำ กับชาวบ้าน กับหน่วยงานภาคีต่างๆ จนหลายๆครั้ง คิดท้อแท้ ไม่ไหวแล้วๆ อยากถูกรางวัลที่ 1 สัก 2 ใบ แล้วจะลาออกไปใช้ชีวิตแบบ Slow Life เหมือนที่คนมีตังค์เค้าทำกัน แต่นี่ก็เป็นเพียงแค่ฝัน...

เมื่อเวลาผ่านไป พอเริ่มปรับตัวได้ จับประเด็นของงานได้ถูก รู้จักพื้นที่มากขึ้น สร้างมิตรภาพและความสัมพันธ์กับผู้คนได้หลากหลาย การทำงานพัฒนาชุมชนของเราก็ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ประสบการณ์ที่ผ่านมา ยิ่งทำให้เราแข็งแกร่งมากขึ้น ทำให้เรามีความอดทน มีความรับผิดชอบมากขึ้น กล้าพูด กล้าคิด และกล้าตัดสินใจมากขึ้น แต่สิ่งดีๆที่เกิดขึ้นนั้น ก็ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ระหว่างทางก็มักมีปัญหาอุปสรรคตลอดเวลา ความท้อแท้ เหนื่อยหน่ายก็มีบ้าง ซึ่งอยู่ที่เราจะจัดการกับความรู้สึกนี้อย่างไร โดยวิธีการที่ทำให้เรามีทัศนคติเชิงบวก มีอารมณ์ความรู้สึกที่ดีขึ้น ก็คือตัวเราต้องปรับเปลี่ยนความคิดหลายๆอย่าง  เช่น

ทำสิ่งเหล่านั้นให้เต็มที่ ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรก็ช่าง เมื่อได้รับมอบหมายงานให้ทำ ไม่ว่าจะเป็นงานเล็ก หรืองานใหญ่ งานที่เคยทำหรือไม่ งานง่ายหรืองานยาก เราต้องพยายามทำให้เต็มที่ก่อน ทำให้สุดฝีมือ สุดกำลัง สุดความสามารถก่อน ถึงแม้ว่าถ้าผลลัพธ์ของงานนั้นจะออกมาไม่ดี หรือออกมาตรงข้ามกับที่เราคาดหวังไว้ ก็อาจเป็นเพราะเหตุอื่น ปัจจัยอื่น ที่เราควบคุมมันไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือ “ปล่อยวางๆๆ” และอย่างน้อยๆ เราก็จะไม่เสียดาย แล้วมัวแต่คิดว่า “ถ้าเราได้ทำอย่างนั้นอย่างนี้คงจะดีกว่านี้”

หาเวลาพักเหนื่อยกาย เหนื่อยใจบ้าง หลายๆคนบอกว่า เมื่อมาทำงานพัฒนาชุมชนนั้น เวลาเป็นสิ่งมีค่า และสิ่งที่มีค่ามากกว่าคือเวลาว่าง บางช่วงงานหนักๆ ต้องทำงานตั้งแต่เช้ายันดึก วันหยุดก็ไม่ได้หยุด แต่พอได้มาย้อนมองตัวเองปุ๊บ “เราก็เหนื่อยเหมือนกันนะ” สิ่งที่เริ่มทำคือถอยออกมาจากปัญหา และหยุดพักหายใจลึก ๆ ก่อน เพราะถ้ายิ่งฝืน ยิ่งทนทำต่อจนหมดแรง อาจทำให้เรายิ่งท้อ ยิ่งเหนื่อย จนหมดความอดทนเลยก็ได้ หันไปพักผ่อน ไปเที่ยว นอนดูทีวี ดูหนังฟังเพลง ไปดูโลกที่กว้างขึ้น ดูอะไรใหม่ๆบ้าง บางครั้งอาจจะทำให้เราได้ไอเดีย แนวคิดใหม่ๆ ไปใช้กับการทำงานได้ด้วย

ทุกปัญหาอุปสรรค จะฝึกฝนให้เรานั้นแข็งแกร่งขึ้น ต้องเปลี่ยนมุมมอง จะมองว่าถึงแม้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้เรารู้สึกท้อแท้ หมดพลังและสิ้นหวัง ซึ่งเมื่อถ้าเราผ่านมันไปได้ เราจะได้เรียนรู้ว่าวิธีการที่ดีที่สุดที่จะแก้ไขปัญหาของแต่ละปัญหาคืออะไร แล้วเราต้องแก้ไขอย่างไร ที่สำคัญคือเราจะเก่งและเข้มแข็งขึ้นอย่างแน่นอน และคิดเสมอว่าการล้มเหลวบ้างมักจะนำไปสู่ความสำเร็จในที่สุด เหมือนงานพัฒนาชุมชน มีปัญหาอุปสรรคมากมาย สุดท้ายแล้วเราก็ผ่านมันมาได้ทุกงาน แถมยังมีวิธีการ เทคนิคในการแก้ไขปัญหาไว้เป็นเครื่องมือในการทำงาน เป็นภูมิคุ้มกันของปัญหาอุปสรรคได้เป็นอย่างดี

เอาชนะความกลัวให้ได้ ความกลัวเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งที่ทำให้เราไม่สามารถทำงานได้ กลัวว่าจะทำไม่ได้ ทำไปแล้วผลลัพธ์ต้องออกมาไม่ดีแน่ๆเลย ทำไปแล้วจะเกิดปัญหาอุปสรรคอีกแน่นอน กลัวว่าเราจะไม่เป็นที่พอใจของผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน กลัวไปหมดทุกอย่าง ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ลงมือทำ เราจะต้องหยุดความคิดนั้น และต้องเอาชนะความกลัวให้ได้ เข้าใจว่ามันยากแต่ถ้าเราเอาชนะความกลัวได้ เชื่อมั่นในตัวเองเข้าไว้ว่าเราทำได้ และเราจะทำให้สำเร็จด้วย เมื่อเรามีความมั่นใจในการทำงาน ความสำเร็จที่เราคาดหมายไว้ก็อยู่ไม่ไกล เหมือนตอนที่ได้รับมอบหมายให้รับงานพัสดุการเงิน งานโคกหนองนา ฯลฯ ซึ่งเป็นงานที่ทุกคนกลัว ไม่มีใครอยากรับงานนี้ แต่ด้วยความจำเป็น งานก็ต้องดำเนินต่อไป พยายามศึกษาหาความรู้ประกอบอย่างต่อเนื่อง เชื่อมั่นในตัวเองเข้าไว้ สุดท้ายแล้วเราก็ทำมันได้สำเร็จ

และสิ่งสำคัญก็คือ ให้กำลังใจตัวเองเสมอ การทำงานอะไรก็ตามจะต้องมีการตั้งเป้าหมายไว้ตลอด ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีแหละ แต่เราก็อย่ากดดันตัวเองเกินไป อย่าเอาผลงานของตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นจนทำให้ตัวเองหมดกำลังใจ ท้อแท้ สิ้นหวัง สิ่งที่เราควรทำคือ ทำงานอยู่บนพื้นฐานความรู้ความสามารถของตนเอง ต้องรู้ว่าตนเองเก่งอะไร เด่นหรือด้อยด้านไหน ควรปรับปรุงแก้ไขตนเองเรื่องอะไร และเห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้น ก่อนออกจากบ้านมาทำงาน ก็ลองมองตัวเองหน้ากระจกแล้วบอกกับตัวเองว่า “สู้ๆนะตัวเรา เราทำได้อยู่แล้ว ทำให้เต็มที่ไปเลย” ก่อนนอน ก็ส่องกระจก แล้วยิ้มให้กับตัวเอง แล้วพูดกับตัวเองว่า “วันนี้เราเก่งจังเลย เราทำดีที่สุดแล้ว” เล็กๆน้อยๆเหล่านี้จะสร้างพลังแห่งกำลังใจ ให้เราทำงานได้อย่างมีความสุขอีกทางหนึ่ง

ไม่ว่าจะเหนื่อย จะท้อเพียงใด ถ้าหากเรามีจิตใจที่ตั้งมั่น ทำงานด้วยความอดทน รับผิดชอบต่อหน้าที่ และที่สำคัญเลยก็คือการมีทัศนคติที่ดี มองทุกอย่างให้เป็นมุมบวกเข้าไว้ ทำงานให้เต็มที่ พักเหนื่อยกายใจบ้าง ไม่กลัวกับสิ่งที่ยังไม่ได้ลงมือทำ และให้กำลังใจตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าปัญหา หรืออุปสรรคจะถาโถมเข้ามาเพียงใด ก็เชื่อมั่นว่าเราจะสามารถผ่านพ้นสิ่งเหล่านั้นไปได้อย่างง่ายดาย ดั่งคำที่ชาวพัฒนากร พูดกันมาตลอดว่า “ไม่มีอะไร ที่ทำไม่ได้ ทำไม่ไหว ทำไม่ทัน” และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้การทำงานพัฒนาชุมชนได้อย่างมีความสุข เหน็ดเหนื่อยแค่ไหนก็พร้อมจะสู้ต่อ ก็คือรอยยิ้ม ความรัก ความห่วงใยของชาวบ้านที่มีต่อศรัทธาที่เดินได้ ที่เรียกกันว่า “พัฒนากร”


แชร์หน้านี้